ความเป็นมาของเครื่องถมเมืองนคร
เครื่องถม หมายถึง ภาชนะ เครื่องใช้ที่ทำด้วยเงินหรือทอง มีลวดลายแกะเป็นสีเงินหรือสีทอง ตัดกับสีพื้นหรือสีของน้ำยาสีดำสนิทลวดลายที่เกิดขึ้นบนเครื่องถม เกิดจากการแกะสลักเป็นลวดลาย เป็นร่องลึกลงไปบนภาชนะแล้วใช้ตัวยา ซึ่งเป็นโลหะผสมที่มีสีดำผสมกับน้ำประสานทอง หลอมละลายแทรกลงไปในช่องว่างระหว่างลาย เพื่อช่วยให้เห็นลายเด่นชัดขึ้น
การทำเครื่องถม สันนิษฐานว่าชาวนครศรีธรรมราชได้ความรู้จากช่างโปรตุเกส ซึ่งเข้ามา ค้าขายอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือ ใน พ.ศ. 2061 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แต่บางท่านกล่าวว่าชาวนครศรีธรรมราชน่าจะรับวิธีการทำเครื่องถมจากอินเดียในระยะก่อนหน้านั้น ฝีมือการเขียนลวดลายและสลักลงบนเนื้อเงินงดงามจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าจะหาช่างถมจากบ้านเมืองอื่นมาเทียบไม่ได้จนเป็นที่แพร่หลายเลื่องลือในนามว่า “ถมนคร” ซึ่งต่อมาแพร่ไปสู่กรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้รับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น จัดหาช่างถมเข้าไปทำไม้กางเขนถม เพื่อส่งไปถวายพระสันตปาปา ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี แท้จริงแล้วชาวโปรตุเกสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยานั้น มิได้นำเอาเครื่องถมเข้ามาเผยแพร่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่ ประเพณีอื่น ๆ บางอย่างเช่น การชนวัว การมีตลาดนัด ก็ได้นำเข้ามาเผยแพร่ด้วย และความนิยมเหล่านี้ได้มีสืบต่อมาและแพร่หลายอยู่ทั่วไปจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้รับวิธีการทำเครื่องถมจากชาวโปรตุเกสมาในคราวนั้นแล้ว ชาวเมืองนครซึ่งมีความสามารถในทางนี้อยู่แล้ว ได้ดัดแปลงแก้ไขรูปพรรณและลวดลายต่าง ๆ ตามแนวนิยมของศิลปกรรมไทยได้ประณีตและสวยงามยิ่งขึ้นประกอบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทุกยุคทุกสมัยก็ได้เอาในใส่ทะนุบำรุงอย่างดี และพยายามจัดให้มีการถ่ายทอดวิชานี้สืบต่อมา
เครื่องถมนคร มีชื่อเสียงมากและได้รับความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะในราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดเครื่องถมเมืองนครเป็นจำนวนไม่น้อยส่งรวมกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่พระนางวิคตอเรียแห่งอังกฤษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น