ประเภทของเครื่องถมเมืองนคร
เครื่องถม หมายถึง ภาชนะ เครื่องใช้ที่ทำด้วยเงินหรือทอง มีลวดลายแกะเป็นสีเงินหรือสีทอง ตัดกับสีพื้นหรือสีของน้ำยาสีดำสนิทลวดลายที่เกิดขึ้นบนเครื่องถม เกิดจากการแกะสลักเป็นลวดลาย เป็นร่องลึกลงไปบนภาชนะแล้วใช้ตัวยา ซึ่งเป็นโลหะผสมที่มีสีดำผสมกับน้ำประสานทอง หลอมละลายแทรกลงไปในช่องว่างระหว่างลาย เพื่อช่วยให้เห็นลายเด่นชัดขึ้น
เครื่องถม เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงอีกประเภทหนึ่ง ที่คนไทยรู้จักมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เพราะปรากฎในพงศาวดารว่า เครื่องถมนี้นับเป็นหนึ่ง ในเครื่องราชูปโภค ของไทยตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และต่อมาในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เครื่องถมก็กลายเครื่องราชบรรณาการที่โปรดฯ ให้ราชฑูตไทย นำไปถวายสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส และสมเด็จพระสันตปาปา ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งเครื่องถมทั้งหลายในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดฯ ให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จัดหาช่างถมฝีมือเลิศเข้าไปทำ ณ กรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑ จึงทำให้หลายฝ่ายสรุปว่า ถมนคร นั้นรับมาจากฝรั่งชาติโปรตุเกสที่เข้าไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ในนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๖๑¹
ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องถมก็ยังถือเป็นของสูงศักดิ์ ที่ใช้เป็นเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชบรรณาการ และบรรดาช่างแทบทั้งหมดก็เป็นชาวนคร แม้ที่อพยพมาตั้งบ้านช่างถมที่กรุงเทพฯ ในครั้งแรกนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เครื่องถมเมืองนคร ได้รับความนิยมอย่างสูง ในราชสำนัก และเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเอง คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ก็เป็นผู้ส่งเสริม และทำนุบำรุงช่างถมให้เจริญก้าวหน้า อีกทั้งตัวท่านเอง เป็นผู้มีฝีมืออันเลิศ จนถมเมืองนคร เข้ามามีชื่อเสียงในพระนครเป็นอย่างมาก ดังเช่น พระแท่นออกขุนนางถม และพระเสลี่ยงถม ที่ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ก็ได้นำช่างถมเมืองนคร มาสร้างพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์² ซึ่งเป็นพระที่นั่งถมทองขนาดใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เครื่องถม นอกจากจะเป็นเครื่องราชูปโภคแล้ว ยังเป็นเครื่องราชบรรณาการอีกอย่างหนึ่งด้วย กล่าวคือ เป็นของขวัญชิ้นสำคัญของพระเจ้าแผ่นดินเสมอมา อาทิ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานเครื่องถม ถวายแด่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ และจนบัดนี้ ยังตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังบัคกิ้งแฮม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระราชทานเครื่องถม แด่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธแห่งอังกฤษ แด่ประธานาธิบดีไอเชนฮาวแห่งสหรัฐอเมริกา เฉพาะอย่างยิ่งทรงเลือกหีบบุหรี่ถมทอง และตลับแป้งถมทอง พระราชทานแก่แพทย์และนางพยาบาลทั้ง ๔ ที่ร่วมถวายการประสูติ และอภิบาลพระองค์ท่าน ณ เมื่องบอสตัน³
ครั้นเครื่องถมได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ช่างไม่สามารถผลิตได้ทัน ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งมีทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศได้ อีกทั้งต้นทุนการผลิตก็ถีบตัวสูงขึ้นทุกที ช่างฝีมือดีก็นับวันจะลดลงๆ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ และความละเอียดประณีตสูง จึงทำให้ช่างสมัยใหม่ นำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เข้ามาช่วย ซึ่งทำให้ต้นในการผลิตต่ำลง แต่ผู้ที่รักในศิลปะไม่นิยม ในที่สุดงานเครื่องถม ก็ด้อยความนิยมและเสื่อมลงไป แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้โปรดฯ ให้ฟื้นฟูวิชานี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะทรงเกรงว่าครูช่างถม จะสูญสิ้นไปหมดจึงโปรดฯ ให้นำช่างชาวนครศรีธรรมราช มาเป็นครูสอนสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ จนในปัจจุบันมีช่างผู้สืบต่อ ถึงขั้นถ่ายทอดให้กับคนรุ่นต่อไป ได้อย่างภาคภูมิจำนวนไม่น้อย และเครื่องถม ก็กลับมาได้รับความนิยมอย่างสูง อีกครั้งหนึ่ง
เครื่องถมแบ่งเป็น 3 ชนิด 1.เครื่องถมเงิน หรือที่นิยมเรียกกันว่า ถมดำ ลักษณะเป็นเนื้อถมที่ถมลงไปบนพื้นตามร่องลาย เป็นสีดำมันซึ่งเนื้อถมจะขับลวดลายให้เด่นงดงามอยู่บนพื้นสีเงิน ตามความนิยมถมเงิน หรือถมดำที่ดีจะต้องมีสีดำสนิท ไม่มีตามด (จุดขาวบนสีดำ)
2. เครื่องถมทอง เป็นการนำเอาถมดำ หรือถมเงินที่ใช้กรรมวิธีตะทอง หรือเปียกทองทำให้ลายสีเงินเป็นสีทองตามทองที่แต้มไว้ แต่แตกต่างกันตรงที่ลวดลาย คือ ลายสีเงินเปลี่ยนเป็นสีทอง ช่างถมจะละลายทองคำให้เหลวเป็นน้ำ โดยการใส่ทองแท่งลงในปรอทแล้วช่างถมจำนำพู่กันมาจุ่มลงในน้ำทองเขียนทับลงบนลวดลายสีเงิน เมื่อเขียนแล้วเสร็จ จะใช้ความร้อนเผ่าไล่ปรอทออกจากทองทองก็จะติดแน่นอยู่บนพื้นที่เขียนด้วยน้ำทองนั้น
3. เครื่องถมตะทอง คือการนำทองคำบริสุทธิ์ผสมปรอทมาทาเนื้อเงินของถมเงินโดยการระบายเป็นแห่งๆ เฉพาะที่ไม่ใช้การระบายจนเต็มเนื้อที่เหมือนการถมทอง แต่เป็นการแต้มทองในเนื้อที่บางแห่งเพื่อเป็นการเน้นจุดเด่น หรือการอวดลายเด่นๆ การทำถมตะทองทำให้ได้เครื่องถมพื้นลายสีดำ และมีดวกดวงลวดลายเป็นสีเงินสลับกับสีทองเป็นแห่งๆ ตามแต่ช่างจะเลือกสรร
ผลิตภัณฑ์
ซองพลูถมทอง
เครื่องถมจะมีกำเนิดขึ้นในเมืองไทย ในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัด แต่ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำเครื่องถมในกลุ่มประเทศตะวันตกนั้น กล่าวกันว่านำมาจากตำราของแรคสิอุส ชาวโรมัน และเท่าที่ค้นพบเครื่องถมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเป็นของชาวโรมัน ซึ่งประมาณกันว่ามีมาก่อนสร้างกรุงโรมต่อมาความรู้ในการทำเครื่องถมเหล่านั้นได้แพร่หลายมาสู่ประเทศไทย มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจากชาวโปรตุเกส ได้ส่งราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าครั้งแรก ในพระราชอาณาจักรไทยตามหัวเมืองใหญ่ ๔ หัวเมือง คือ นครศรีธรรมราช ปัตตานี ปะริด และกรุงศรีอยุธยา
กาน้ำถมทอง
ซึ่งทำให้คนไทยรับเอาขนบประเพณีและศิลปวิทยาการหลายอย่างมาจากชาวโปรตุเกส โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราชได้รับเอาวิธีการทำเครื่องถมไว้ และต่อมาวิธีการทำเครื่องถมก็ได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา จนมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าให้ทำไม้กางเขนส่งไปถวายสันตะปาปาที่กรุงโรม ก็ได้รับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชหาช่างถมที่มีฝีมือเข้ามาทำ แสดงว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของการทำเครื่องถม
คนโทถมทอง
สำหรับความเชื่อหนึ่งกล่าวว่า ชาวอินเดียซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวไทยที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้ถ่ายทอดวิธีการทำเครื่องถมดังกล่าวนี้ไว้ที่นครศรีธรรมราช เพราะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าเมืองหนึ่งที่มีชาวมาลายู ชาวชวา และชาวอินเดียเข้ามาติดต่อค้าขายเสมอ และเมื่อชาวนครศรีธรรมราช ได้รับความรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดียแล้ว วิชาเครื่องถมจึงได้แพร่หลายสู่กรุงศรีอยุธยา
พานถมทอง
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ งานเครื่องถมคงมีการทำสืบทอดต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ก็ทรงโปรดเครื่องลงยาชนิดหนึ่ง คือ ราชาวดี เป็นอย่างมาก ถึงกับโปรดให้ทำเครื่องราชูปโภคต่างๆ เช่น พานขันหมากใหญ่ ไปจนถึงพระโกฐอ้ฐิของสมเด็จพระชนกก็เป็นราชาวดี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราชได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในราชสำนัก ทั้งนี้เพราะเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้ส่งเสริม และทำนุบำรุงช่างถมให้เจริญก้าวหน้า อีกทั้งตัวท่านเองก็เป็นผู้มีฝีมืออันเลิศ จนทำให้งานถมเมืองนครศรีธรรมราชเข้ามามีชื่อเสียงในพระนครเป็นอย่างมาก ดังเช่น พระแท่นออกขุนนางถมและพระเสลี่ยงถม ที่ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ก็ได้นำช่างถมเมืองนครศรีธรรมราชมาสร้างพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งถมทองขนาดใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
กระโถนถมทอง
ปัจจุบันศิลปะการทำเครื่องถมมีเหลือน้อยมาก ทั้งนี้คงเป็นเพราะเครื่องถมเป็นของที่มีค่าและมีราคาสูง จึงใช้กันอยู่แต่ในราชสำนักและแวดวงผู้มีฐานะดีเท่านั้น ขณะเดียวกันการทำเครื่องถมต้องเป็นงานที่ใช้ฝีมือและความละเอียดประณีตสูง ซึ่งต้องทำด้วยมือล้วนๆ อีกทั้งต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น และช่างฝีมือดีๆ ก็นับวันจะลดลง ดังนั้นในระยะหนึ่งจึงทำให้ช่างสมัยใหม่ นำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย โดยใช้การพิมพ์ลายลงบนภาชนะโดยสกรีน แล้วใช้กรดและน้ำยาเคมีกัดให้เกิดเป็นลวดลายแทนการแกะสลักด้วยมือ เครื่องถมชนิดนี้เรียกว่า ถมจุฑาธุช แต่ผู้ที่รักในศิลปะไม่นิยม ในที่สุดก็ด้อยความนิยมลงไป